![]() กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๑๕) ซึ่งระบุว่า การแต่งกายและความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน คือ "นักเรียนชาย ไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน ๕ เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิง ตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาต ให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย.." ![]() ดังนั้น หากตีความตามกฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๑๕ นักเรียนชายจะต้องไว้ผมด้านข้างและด้านหลังเกรียน แต่กฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๑๘ เปลี่ยนแปลงให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงไว้ ไม่ต้องเกรียนผมด้านข้างหรือด้านหลัง ซึ่งในทางปฏิบัติโรงเรียนยังคงยึดติดกับทรงผมเกรียนตามกฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎกระทรวงฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้เด็กไว้ทรงยาวแบบรองทรงได้ ส่วนทรงผมของนักเรียนหญิงนั้น กฎกระทรวงทั้ง ๒ ฉบับ กำหนดให้นักเรียนหญิงไว้ผมสั้นหรือยาวได้ แต่ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลเช่นกันที่จะให้ทรงผมนักเรียนหญิงของแต่ละโรงเรียนจะมีความแตกต่างกันไปตามดุลยพินิจของทางโรงเรียน เมื่อกฎกระทรวงกำหนดให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ผมยาวได้ นักเรียนหญิงของทุกโรงเรียนก็ควรอยู่บนแนวปฏิบัติเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะให้ ศธ.ทำข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไว้ผมยาวของนักเรียนหญิง เช่น หากไว้ผมยาวต้องรวบผมให้เรียบร้อย จากนั้นทุกโรงเรียนจะต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน โดยอนุญาตให้นักเรียนหญิงไว้ผมสั้นหรือยาวเลยต้นคอได้แต่ต้องรวบผมให้เรียบร้อย รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องทรงผมนักเรียน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จัดทำหนังสือเวียน เพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทุกแห่ง เพื่อกำชับว่าในเรื่องของทรงผมนักเรียนนั้น ต้องยึดกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ให้นักเรียนชายไว้ทรงยาวแบบรองทรงได้ และให้นักเรียนหญิงเลือกไว้ผมสั้นหรือยาวได้
นวรัตน์ รามสูต บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน 10/01/2556 ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/2013/jan/015.html |
ข่าว ประชาสัมพันธ์ >